แชร์

Country Level Visa คืออะไร ? ไทยอยู่อันดับที่เท่าไร ?

992 ผู้เข้าชม

Country Level Visa คืออะไร ? ไทยอยู่อันดับที่เท่าไร ?


หลายคนอาจจะคุ้นเคยกับการที่ต้องทำเรื่องยื่นขอ วีซ่า หรือเอกสารรับรองประกอบหนังสือเดินทาง (พาสปอร์ต) เพื่อเดินทางไปยังประเทศต่าง ๆ มาบ้างแล้ว เนื่องจากเจ้าหน้าที่ตรวจคนเข้าเมืองของประเทศนั้น ๆ จะมีการขอตรวจสอบวีซ่าเพื่อจัดการระบบภายในประเทศและเก็บสถิติการเข้า-ออกของบุคคลที่มาจากต่างแดน (ขึ้นอยู่กับเงื่อนไขการเข้าเมืองของประเทศปลายทาง บางประเทศอาจไม่จำเป็นต้องยื่นขอวีซ่า)

ซึ่งประเทศออสเตรเลียก็เป็นอีกหนึ่งประเทศที่ผู้ที่ถือพาสปอร์ตของประเทศไทยต้องดำเนินการขอ วีซ่า ตามจุดประสงค์การเดินทางเข้าประเทศด้วยเช่นกัน ไม่ว่าจะเป็นการเดินทางมาเพื่อท่องเที่ยว, ศึกษาต่อ หรือการทำงานก็จำเป็นต้องได้รับการพิจารณาวีซ่าจากเจ้าหน้าที่ Immigration ของออสเตรเลียทุกครั้ง

ทั้งนี้ ผู้ที่ต้องการเดินทางมาศึกษาต่อในออสเตรเลียอาจจะสงสัยเกี่ยวกับเงื่อนไขของการยื่นขอ วีซ่านักเรียน (Student Visa) ของออสเตรเลีย เพราะทางสถานฑูตได้ประกาศใช้ระบบ Streamlined Student Visa Framework (SSVF) ที่จะมีการจัดลำดับ ความเสี่ยงด้าน Immigration (Immigration Risk Rating)* ของผู้ที่จะเดินทางมาศึกษาในประเทศออสเตรเลียเพื่อระบุจำนวน เอกสาร ที่ต้องแสดงแก่เจ้าหน้าที่ Immigration ไว้ 3 ระดับ ดังนี้

  Level 1 ความเสี่ยงระดับต่ำ

  Level 2 ความเสียงระดับปานกลาง

 Level 3 ความเสี่ยงระดับสูง


* ระดับความเสี่ยงไม่ได้การันตีอัตราการปฏิเสธวีซ่าแต่อย่างใด ผู้ที่มีระดับความเสี่ยงต่ำอาจถูกปฏิเสธวีซ่า หรือผู้ที่มีระดับความเสี่ยงสูงอาจผ่านเกณฑ์การพิจารณาก็เป็นได้ ขึ้นอยู่กับดุลยพินิจของเจ้าหน้าที่แต่ละบุคคล


โดยการกำหนดระดับความเสี่ยงของการพิจารณาวีซ่านักเรียนนั้น ทางรัฐบาลออสเตรเลียจะคำนวณจากคะแนนความเสี่ยงด้าน Immigration ของสถาบันที่เลือกศึกษา (Institution Level) ร่วมกับคะแนนความเสี่ยงของประเทศผู้ยื่นขอวีซ่า (Country Level) ประกอบกันเพื่อใช้พิจารณาเพิ่ม-ลดระดับความเสี่ยงของประเทศต่าง ๆ ในการยื่นขอวีซ่านักเรียนทุก ๆ 6 เดือน

ในส่วนของความเสี่ยงด้าน Immigration ของสถาบันที่เลือกศึกษา (Institution Level) จะสามารถ เลี่ยง ได้จากการเลือกสมัตรเรียนกับสถาบันการศึกษาในออสเตรเลียที่มีการขึ้นทะเบียนอย่างถูกกฎหมาย ผ่านการรับรองหลักสูตรสำหรับชาวต่างชาติ (CRICOS) และจัดอยู่ในลิสต์ของสถาบันการศึกษาที่มีระดับความเสี่ยงต่ำได้ (รายละเอียดเกี่ยวกับสถาบันต่าง ๆ สามารถสอบถามเจ้าหน้าที่ EduYoung ได้เลยนะคะ)

แต่สำหรับความเสี่ยงด้าน Immigration ของประเทศผู้ยื่นขอวีซ่า (Country Level) นั้นเป็นความเสี่ยงที่ผู้เรียนไม่สามารถเลี่ยงได้ เนื่องจากทางรัฐบาลของออสเตรเลียจะเป็นผู้กำหนดระดับความเสี่ยงของประเทศนั้น ๆ


Country Level Visa ของประเทศไทยอยู่ในระดับที่เท่าไร ?

จากการจัดลำดับครั้งล่าสุด ประเทศไทย ถือว่าจัดอยู่ในลิสต์รายชื่อ ประเทศที่มีความเสี่ยงระดับสูง (Level 3) แต่ก็ไม่ใช่เรื่องน่ากังวลแต่อย่างใด เพราะลำดับ Country Level ก็เป็นแค่ตัวจัดอันดับความละเอียดของ เอกสาร ที่ใช้ยื่นวีซ่าเท่านั้น โดยเอกสารที่จำเป็นต้องใช้ในการขอวีซ่าตามระดับการศึกษาจะมีดังนี้

ELICOS (คอร์สภาษา) แนะนำให้เอกสารทางการเงิน (Bank Statement) ประกอบ แต่ไม่จำเป็นต้องยื่นผลคะแนนการทดสอบภาษาอังกฤษเบื้องต้น

VET Course (คอร์สวิชาชีพ) ระดับ Certificate หรือ Diploma จำเป็นต้องยื่นเอกสารทางการเงิน (Bank Statement) และบางสถาบันจะเรียกขอคะแนน IELTS เบื้องต้น (ยกเว้นสถาบัน Level 1)

  • คะแนน IELTS Overall 4.5 สามารถเลือกเรียน Package ร่วมกับคอร์สภาษาระยะสั้น 20 สัปดาห์
  • คะแนน IELTS Overall 5.0 สามารถเลือกเรียนควบคู่กับ Package ภาษาระยะสั้น 10 สัปดาห์
  • คะแนน IELTS Overall 5.5 ลงเรียน Certificate/ Diploma ได้เลยโดยไม่จำเป็นต้องลงควบคู่กับ Package คอร์สภาษา


University (คอร์สระดับมหาวิทยาลัย) จำเป็นต้องเอกสารทางการเงิน (Bank Statement) และผลคะแนนภาษาอังกฤษเบื้องต้นตาม Requirement ขั้นต่ำที่ทางสถาบันนั้น ๆ กำหนด


ทั้งนี้ พี่ ๆ EduYoung แนะนำว่าน้อง ๆ ควรเลือกเข้าศึกษากับสถาบัน Level 1 เพื่อลดความยุ่งยากของการจัดเตรียมเอกสาร โดยรายชื่อของสถาบัน Level 1 นั้นสามารถสอบถามกับ EduYoung ได้เลย (สำหรับใครที่ต้องการลงเรียนในสถาบัน Level 2 3 ก็ยังสามารถทำได้ดังเดิม แต่อาจจะต้องเตรียมเอกสารและผลการทดสอบภาษาควบคู่กันไป)


เกณฑ์การจัดอันดับ Country Level Visa ของออสเตรเลีย

การจัดอันดับ Country Level Visa ของออสเตรเลียจะมีการพิจารณาปรับใหม่ทุก ๆ 6 เดือน ขึ้นอยู่กับพฤติกรรมโดยรวมของคนไทยที่ถือวีซ่านักเรียนในออสเตรเลียตามหลักเกณฑ์ดังต่อไปนี้

  1. จำนวนการถูกยกเลิกวีซ่านักเรียน (Rate of Visa Cancellations) คิดเป็น 25%

    โดยจะขึ้นอยู่กับความประพฤติโดยรวมของบุคคลที่ถือพาสปอร์ตของประเทศนั้น ๆ หลังจากได้รับวีซ่านักเรียนและเข้ามาอยู่อาศัยในออสเตรเลียแล้ว หากพบว่าผู้ที่ถือพาสปอร์ตของประเทศดังกล่าวมีความประพฤติผิดกฎของวีซ่านักเรียนที่ทางโรงเรียน และหน่วยงานต่าง ๆ กำหนดไว้ก็จะดำเนินการแจ้งรายงานไปยัง Immigration เพื่อพิจารณายกเลิกวีซ่านักเรียน รวมถึงนำไปเก็บสถิติและคำนวณปรับระดับความเสี่ยงของประเทศดังกล่าวต่อไป

    ทั้งนี้ ผู้เรียนจะสามารถขาดเรียนได้ไม่เกิน 20% (ต้องเข้าเรียนเกิน 80% ในแต่ละภาคการศึกษา) และต้องส่งการบ้านเกิน 50% ของจำนวนชิ้นงานทั้งหมด รวมทั้งไม่ทำงานเกินกว่าเกณฑ์ที่วีซ่านักเรียนกำหนดไว้ (ไม่รวมการทำงานที่เป็นข้อยกเว้นตามมาตรการช่วง COVID-19) จึงจะสามารถคงวีซ่าเอาไว้ได้

    ***ยกเว้นกรณีที่นักเรียนเป็นคนยื่นของยกเลิกวีซ่าด้วยตนเอง จะไม่นำเอามานับรวมสถิติ***


  2. อัตรานักเรียนที่ถูกปฎิเสธวีซ่าเนื่องจากการปลอมแปลงเอกสารหรือให้ข้อมูลเท็จ (Rate of Refusals due to fraud reason) คิดเป็น 40%

    คำนวณจากจำนวนวีซ่าที่ถูกปฏิเสธเนื่องจากผู้ยื่นขอวีซ่ามีการให้ข้อมูลเท็จหรือปลอมแปลงเอกสารบางอย่างต่อเจ้าหน้าที่ Immigration โดยจะนับทั้งอัตราการถูกปฏิเสธวีซ่าทั้งแบบ On-shore (ยื่นต่อวีซ่าในออสเตรเลีย) และ Off-shore (ยื่นขอวีซ่านอกประเทศออสเตรเลีย) เพื่อประเมินระดับความเสี่ยงของผู้ถือพาสปอร์ตประเทศนั้น ๆ


  3. อัตราการปฏิเสธวีซ่าด้วยสาเหตุอื่น ๆ (Rate of Refusals excluding fraud) คิดเป็น 10%

    คิดจากจำนวนวีซ่าที่ถูกปฏิเสธเนื่องจากสาเหตุอื่น ๆ ที่นอกเหนือไปจากเหตุผลด้านการให้ข้อมูลเท็จของผู้ถือสัญชาติดังกล่าว (ในกรณีนี้จะวัดจากอัตราการถูกปฏิเสธวีซ่าของบุคคลสัญชาติไทย)


  4. การอยู่เกินระยะเวลาที่วีซ่านักเรียนกำหนด (Rate of Student visa holders becoming unlawful non-citizens) คิดเป็น 15%

    ขึ้นอยู่กับพฤติกรรมโดยรวมของผู้ถือพาสปอร์ตประเทศนั้น ๆ หลังเดินทางเข้ามาศึกษาในออสเตรเลียและถึงกำหนดระยะเวลาสิ้นสุดวีซ่า หากผู้ที่ถือพาสสปอร์ตของสัญชาติดังกล่าวมีอัตราการโดดวีซ่า หรืออยู่อาศัยต่อในออสเตรเลียหลังสิ้นสุดระยะเวลาวีซ่าเกิน 28 วัน จะถือว่าเป็นบุคคลที่อาศัยอยู่ในออสเตรเลียอย่างผิดกฎหมายทันที

    โดยเมื่อครบกำหนดระยะเวลาการอยู่อาศัยในออสเตรเลียตามที่วีซ่านักเรียนระบุไว้ ผู้เรียนจะต้องดำเนินการยื่นต่อวีซ่าภายใน 28 วันหลังครบกำหนด ทั้งนี้ ผู้เรียนจะสามารถทำเรื่องยื่นขอต่อวีซ่าได้เพียง 1 ครั้งเท่านั้น (หลังจากดำเนินการยื่นเรื่องขอต่อวีซ่าผู้เรียนจะได้รับ Bridging C Visa ชั่วคราว และไม่สามารถทำงานได้จนกว่าจะได้รับวีซ่าตัวใหม่)

     
  5. อัตราผู้ขอยื่นวีซ่าลี้ภัย (Rate of Subsequent Protection Visa applications) คิดเป็น 10%

    คิดจากจำนวนผู้ยื่น Protection Visa (PV) ต่อจากวีซ่านักเรียน โดยจะพิจารณาจากเหตุผลที่ยื่นขอวีซ่าลี้ภัยเป็นหลัก หากพบว่ามีอัตราการยื่นขอ PV โดยไม่มีเหตุจำเป็นก็จะเก็บสถิติมาประเมินหักลบคะแนนระดับการพิจารณา Country Level ของประเทศนั้น ๆ

บทความที่เกี่ยวข้อง
เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพและประสบการณ์ที่ดีในการใช้งานเว็บไซต์ของท่าน ท่านสามารถอ่านรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ นโยบายคุกกี้
เปรียบเทียบสินค้า
0/4
ลบทั้งหมด
เปรียบเทียบ
Powered By MakeWebEasy Logo MakeWebEasy